วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บทเรียนออนไลน์ รายวิชาศิลปะ

    ความหมายของศิลปะ

           ความหมายของศิลปะ ศิลปะมีความหมายกว้างขวางและยากที่จะนิยาม หรือกำหนดไว้ตายตัวเนื่องจากมีลักษณะการแสดงออกที่เป็นอิสระ สามารถที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็พอจะรวบรวมความหมายที่นักปราชญ์ หรือผู้รู้ได้เสนอความคิดเห็นไว้ ดังนี้
1. ตอลสตอย นักปราชญ์ชาวรัสเซีย ให้ความเห็นไว้ว่า ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความรู้สึก เป็นวิธีการสื่อสารความรู้สึกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
2. อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอดจากธรรมชาติ
3. ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้ความหมายของศิลปะว่า งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึงต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด
  มนุษย์สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อความชื่นชม สนองความต้องการด้านอารมณ์และจิตใจ ผ่านประสาทสัมผัส 3 ด้าน ได้แก่ ศิลปะที่มองเห็น เรียกว่า ทัศนศิลป์ศิลปะที่แสดงออกทางเสียง เรียกว่า โสตศิลป์ หรือ ดนตรี และศิลปะที่แสดงออกทางลีลาการเคลื่อนไหว เรียกว่า นาฎศิลป์ หรือการละคร
           สำหรับศิลปะที่มองเห็น หรือ ทัศนศิลป์ (Visual Art) เป็นศิลปะที่สามารถสัมผัสรับรู้ ชื่นชมทางสายตา และสัมผัสจับต้องได้ กินระวางเนื้อที่ในอากาศ แบ่งออกเป็น3 ประเภท ได้แก่
1. จิตรกรรม (Painting) หมายถึง การวาดภาพและระบายสี หรือการแสดงออกบนพื้นระนาบ 2 มิติ
2. ประติมากรรม (Sculpture) หมายถึง การปั้น การสลัก หรือการแสดงออกเป็นผลงาน 3 มิติ
3. สถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึง การออกแบบก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ
จิตรกรรม       จิตรกรรมมีหลายประเภทและเรียกชื่อต่างๆ กัน โดยพิจารณาจากวัสดุ เรื่องราว และตำแหน่งติดตั้ง การเรียกตามชื่อวัสดุ ได้แก่ จิตรกรรมสีน้ำ จิตรกรรรมสีน้ำมัน เป็นต้น
การเรียกชื่อตามเรื่องราว ได้แก่ จิตรกรรมภาพคน จิตรกรรมภาพทิวทัศน์ เป็นต้น
การเรียกชื่อตามตำแหน่งติดตั้ง ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมข้างถนน เป็นต้น
จุดมุ่งหมายของจิตรกรรม
จุดมุ่งหมายของจิตรกรรมอาจแบ่งได้เป็น2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. จุดมุ่งหมายของศิลปินผู้สร้าง
2. จุดมุ่งหมายของจิตรกรรมเองโดยตรง
จุดมุ่งหมายของศิลปินผู้สร้างนั้น ได้แก่ เป้าหมายที่จิตรกรต้องการให้จิตรกรรมสนองผลประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่น บรรยายด้านความเชื่อทางศาสนา บรรยายเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ และบรรยายประวัติความเป็นมาของมนุษย์ ซึ่งลักษณะรูปแบบก็มักจะคล้ายตามความต้องการของผู้อุปการะศิลปิน หรือพระมหากษัตริย์โดยตรง นอกจากนี้ยังสนองผลประโยชน์ทางด้านความคิดของศิลปินโดยตรงเช่น ใช้จิตรกรรมเป็นสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของความเชื่อ ความศรัทธา ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตกแต่งฝาผนัง
โบสถ์ วิหารเป็นต้น หรือเพื่อเป็นแนวทางในการสั่งสอนคนรุ่นหลัง
สำหรับจุดมุ่งหมายของจิตรกรรมโดยตรง มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ
1. เพื่อบันทึกรูปแบบ (Recorded image)
2. เพื่อบันทึกความรู้สึกของศิลปิน (Recorded sensation)
ประติมากรรม (Sculpture)     เราทราบมาแล้วว่าสิ่งที่ล้อมรอบตัวเรามีรูปทรงต่างๆ กันและมีลักษณะเป็นสามมิติ ดังนั้นเมื่อใดที่มนุษย์สนใจที่จะเลียนแบบรูปทรงสามมิตินั้นโดยใช้วัสดุที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงได้เช่น ดินเหนียว ถ่ายทอดรูปทรงนั้นๆเราก็เรียกผลงานว่า ประติมากรรม และผู้ทำงานนี้ก็ถูกเรียกว่า ประติมากร  คำว่า ประติมากรรม หมายถึง รูปของสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นสามมิติ อาจเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ แต่ถ้าเป็นรูปเคารพในศาสนา เช่น พระพุทธรูป พระเจ้า เป็นต้น เรียกว่า ปฏิมากรรม และผู้ทำก็ถูกเรียกว่า ปฏิมากร
ประติมากรรมมีรูปทรงเป็นลักษณะสามมิติ และในลักษณะสามมิตินั้นยังสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท
1. ประเภทลอยตัว (Round Relief)  มีลักษณะตั้งได้ สามารถมองได้รอบด้าน ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังประติมากรรมประเภทลอยตัวนี้ บางทีก็สามารถตั้งได้ด้วยตัวของมันเอง บางชนิดก็ต้องมีฐานรองรับซึ่งผู้สร้างที่ใช้ฐานรองรับจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกลมกลืนของฐานด้วย บางทีก็ใช้บริเวณฐานเป็นที่จารึกคุณงามความดีของรูปปั้นนั้น เช่น รูปปั้นคนเหมือน หรือรูปอนุสาวรีย์เป็นต้น
2. ประเภทนูนสูง (High Relief)  มีลักษณะสูงขึ้นมาจากพื้น โดยที่มองเห็นได้ 3 ด้าน ด้านหลังมองไม่เห็น สำหรับความสูงต่ำมักจะมีลักษณะใกล้เคียงรูปแบบจริง เช่น รูปปั้นประกอบบริเวณฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น
3. ประเภทนูนต่ำ (Bas Relief)  มีลักษณะคล้ายกับนูนสูง ผิดกันแต่ว่าความสูงต่ำ ได้ย่นย่อลงให้กลมกลืนกับพื้นหลัง เช่น รูปบนเหรียญต่างๆ เป็นต้น
ประติมากรรมที่มีลักษณะสูงต่ำทั้ง 3 ประเภท มีความสำคัญและการนำไปใช้เพื่อความเหมาะสมต่างๆ กัน ซึ่งพอประมวลได้ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเป็นการจำลองคนที่เราเคารพนับถือให้มีรูปแบบหลงเหลือเพื่อเตือนให้ระลึกถึง หรือเพื่อเคารพบูชา
2. เพื่อเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมให้เป็นรูปทรงปรากฎเป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์
3. เพื่อเป็นการปลุกเร้าให้ผู้พบเห็นตระหนักในความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ความสามัคคี และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
4. เพื่อเป็นการแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ
ความเป็นมาของประติมากรรม   ในอดีตรูปแบบประติมากรรมบางทีก็นำไปใช้เป็นสื่อสั่งสอนกัน เช่น รูปประติมากรรม วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ ซึ่งจะสอนให้คนมองเห็นความสำคัญในอภินิหารแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การขยายเผ่าพันธุ์ หรือประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพของพระเจ้า หรือพระพุทธรูปประติมากรรมเหล่านี้ผู้สร้างพยายามบรรจงตกแต่งให้เกินสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ด้วยเหตุว่าหากสร้างให้เหมือนมนุษย์แล้ว มนุษย์ด้วยกันจะไม่เคารพ แต่ในสมัยกรีกกลับมีความเชื่อว่าการถ่ายทอดรูปแบบประติมากรรม ให้เป็นเทพเจ้าที่เคารพนั้น ควรจะเริ่มจากคนจริง และให้เหมือนจริงมากที่สุด เพราะรูปคนจริงๆ นั้นงดงามกว่ารูปเทพเจ้าที่คนไม่เคยเห็น ดังนั้นรูปประติมากรรมของกรีก จึงมีลักษณะของคนจริงมากที่สุด อันแสดงสัดส่วน ทรวดทรง กล้ามเนื้ออย่างงดงาม
 ประติมากรรมโลหะลอยตัว สตรีในชุดผ้านุ่งที่บางพลิ้ว แสดงเรื่องราวในเทพนิยาย รูปประติมากรรมบางสมัยก็สะท้อนความคิดของศิลปินที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในสมัยกอทิกระบบเศรษฐกิจทั้งหลายอยู่ในอำนาจของพระและขุนนางชั้นสูงซึ่งผู้อยู่ในตำแหน่งนี้ มักจะอยู่ดีกินดี อ้วนอุ้ยอ้าย ดังนั้น ประติมากรจึงปั้นรูปเคารพมีลักษณะตรงกันข้าม คือ รูปเคารพที่มีลักษณะผอม เพราะมีความเชื่อว่าคนอ้วนมาก คือคนมีบาปมาก และเอาเปรียบผู้อื่นจนมีฐานะดี  รูปลักษณะประติมากรรมแบบกรีก แสดงถึงความอ่อนช้อย สวยงามด้วยลีลาของเส้นและรูปทรง ในสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ความคิดเกี่ยวกับประติมากรรม นอกจากจะเน้นรูปแบบที่มนุษย์ด้วยกันมองเห็นแล้ว ยังเพิ่มลักษณะพื้นผิวของประติมากรรม รวมทั้งคำนึงถึงฐานของประติมากรรมในลักษณะที่เรียบง่าย บางตอนก็อาจปล่อยรูปทรงของวัสดุนั้นไว้เฉยๆ  วิวัฒนาการของประติมากรรมที่น่าสนใจยิ่งในศิลปะสมัยใหม่ก็คือ การเปิดรูปทรงให้กลวง เพื่อให้เห็นความผสมผสานของรูปทรงภายนอกและรูปทรงภายใน ประติมากรที่ริเริ่มในสมัยนี้คือ ศิลปินชาวอังกฤษชื่อ เฮนรี่ มัวร์ มัวร์ได้เจาะรูปปั้นให้กลวงและลดรายละเอียด แสดงรูปแบบเรียบง่าย โดยรักษาคุณสมบัติของวัสดุไว้ให้มองเห็นอย่างชัดเจน และเรื่องวัสดุนั้น มัวร์ก็สืบทอดการใช้วัสดุจาก ไมเคิล แองเจลโล  กล่าวคือ ใช้หินจากภูเขาที่ไมเคิล แองเจลโล เคยนำมาสร้างผลงาน
ปริมาณของประติมากรรม     ประติมากรรมนั้น หากผู้สร้างต้องการจะเพิ่มจำนวนปริมาณตามความต้องการของสังคม เขาก็มักจะใช้วิธีหล่อโดยสร้างรูปที่ต้องการนั้นให้เป็นแม่พิมพ์ หรือรูปแม่แบบเสียก่อนแล้วจึงทำพิมพ์จากรูปแม่แบบนั้นเพื่อหล่อต่อไป การหล่อมีวิธีทำพิมพ์ 2 วิธี คือ
1. การทำพิมพ์ทุบ พิมพ์ทุบเป็นแม่พิมพ์ชั่วคราว เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว สามารถใช้หล่อได้ เพียงรูปเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อจะนำแม่พิมพ์ออก หลังจากทำการหล่อรูปแล้วนั้น ต้องทำการสกัดแม่พิมพ์ให้แตกออก เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นรูปหล่อเท่านั้น แม่พิมพ์ทุบนี้ใช้สำหรับการหล่องานปั้นที่ทำด้วยวัสดุอ่อน เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ขี้ผึ้ง เท่านั้น
2. การทำพิมพ์ชิ้น ใช้สำหรับการหล่องานปั้นที่มีลักษณะรูปนูนที่มีแง่มุมโค้งเว้ามาก หรือรูปที่ต้องการหล่อออกมาเหมือนรูปต้นแบบหลายๆ รูป การทำพิมพ์ชิ้นไม่นิยมทำจากรูปต้นแบบที่เป็นดินเหนียว ดินน้ำมัน หรือขี้ผึ้ง แต่นิยมทำจากรูปต้นแบบที่มีเนื้อวัสดุแข็งดังนั้น ถ้าจะทำแม่พิมพ์ชิ้น ควรหล่อรูปจากแม่พิมพ์ทุบเสียก่อน เมื่อได้รูปแบบเป็นวัสดุที่ต้องการแล้วจึงแบ่งพิมพ์เป็นชั้น การแบ่งพิมพ์ประติมากรจะรู้ว่าส่วนไหนยื่นโปนออกมา ก็จะต้องแบ่งหลายชิ้น หากมีแง่มุมที่ถอดพิมพ์ยากก็จะแบ่งหลายๆ ชิ้น และควรถอดพิมพ์ตามลำดับก่อนหลัง มิฉะนั้นส่วนยื่นโปนออกมาจะชำรุดได้     สรุปได้ว่า ประติมากรรมเป็นผลงานรูปทรงที่มนุษย์สร้างขึ้น มีลักษณะ 3 มิติ โดย มีกระบวนการทำ 3 ประการ คือ การเพิ่มการสลักออก และการผสมทั้งเพิ่มและสลัก รูปแบบของประติมากรรมที่เกิดจากกระบวนการเหล่านี้มี 3 แบบเช่นกัน คือรูปแบบลอยตัว รูปแบบนูนสูง และรูปแบบนูนต่ำ รูปแบบทั้งหลายนี้ศิลปินจะเลือกทำตามความเหมาะสมและประโยชน์ใช้สอยที่ตนและสังคมต้องการ
สถาปัตยกรรม (Architecture)      ในบรรดารูปแบบศิลปะที่มองเห็นที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นสถาปัตยกรรมมีรูปแบบใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งรวมของศิลปะที่มองเห็นเกือบทุกชนิด ตัวอย่างเช่น ในโบสถ์ ลักษณะส่วนประกอบของเสา ผนัง เพดานหน้าต่าง หลังคา พื้น ตลอดจนผังบริเวณและสวน สามารถที่จะสอดแทรกรูปแบบศิลปะที่มองเห็นแขนงจิตรกรรมและประติมากรรมผสมผสานเข้ากันได้อย่างดี ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมคือ สถานที่รวมศิลปกรรมเกือบทุกประเภท สถาปัตยกรรมมีความหมายต่างๆกัน อาจหมายถึงเทคโนโลยีของการก่อสร้าง หรือศาสตร์ของการก่อสร้างที่สนองความต้องการทางด้านร่างกายของมนุษย์ และความต้องการด้านความเชื่อ ในที่นี้จะนิยามความหมายของสถาปัตยกรรมใหม่คือ การกำหนดผัง บริเวณว่างเพื่อประโยชน์ใช้สอย ซึ่งมีรูปแบบแสดงเอกลักษณ์ของสังคมนั้นๆ เมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์ก็หมายถึงลักษณะเด่นของรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นรู้ว่าเป็นของสังคมใด เช่น สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับโบสถ์ วิหารของไทย มักจะแสดงเอกลักษณ์ที่หลังคาซ้อนและจะซ้อนกันไม่มากนักกล่าวคือ ไม่เกิน 5 ชั้น ซึ่งจะต่างกับของจีนที่แสดงการซ้ำซ้อนของหลังคาเกิน 5 ชั้น  เรื่องเอกลักษณ์นี้ในสมัยกรีกโบราณมีเอกลักษณ์ของบัวหัวเสา เช่น แบบดอริก (Doric) แบบไอโอนิก (Ionic) และแบบโครินเธียน (Corinthian) เป็นต้น สำหรับผังบริเวณก็มักจะใช้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นแบบแผนสำคัญ โดยมีชื่อเรียกว่า Golden Mean Rectangle ซึ่งมีด้านกว้างประมาณสามส่วนและด้านยาวประมาณห้าส่วน หรือเอกลักษณ์ของเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่พบเห็นในวัด ก็มักจะอยู่ในทรวดทรงจอมแห นอกจากนี้เมื่อเราเห็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบสมัยอยุธยา เป็นต้น อย่างไรดี เรื่องสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของสังคมนี้ปรากฎเด่นชัดมากในสถาปัตยกรรมทางศาสนา แต่ในสังคมปัจจุบันร่วมสมัยมาก กล่าวถึง คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และมีรูปทรงเรียบง่าย หรือรูปทรงที่มีลักษณะทึบตันของสถาปัตยกรรมดังจะเห็นได้จากการก่อสร้างอาคารของธนาคารเกือบทุกแห่งในประเทศไทยซึ่งมีลักษณะรูปแบบที่ร่วมสมัยมากเป็นต้น
โครงสร้างของสถาปัตยกรรม  เราทราบแล้วว่า สถาปัตยกรรมหมายถึงการกำหนดผังบริเวณว่างเพื่อประโยชน์ใช้สอย ดังนั้น ความสำคัญประการแรกก็คือโครงสร้างของสถาปัตยกรรมนั้นๆ โครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่น คือ
1. โครงสร้างแบบวางพาด ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างดั้งเดิม กล่าวคือ มีเสาและมีคานพาด ตอนบน ซึ่งจะเป็นฐานของหลังคาโครงสร้างแบบนี้จะใช้หินเป็นคานพาด ซึ่งหินที่เป็นคานพาดนั้นมีความยาวจำกัด ดังนั้นโครงสร้างแบบนี้จึงต้องมีเสามาก
2. โครงสร้างแบบยึดโยง ส่วนมากใช้กับคอนกรีต กล่าวคือ ใช้เหล็กเป็นโครงสำหรับหล่อ คอนกรีต มีคานและส่วนประกอบต่างๆที่ต้องยึดกันเพื่อให้คอนกรีตมีความแข็งแรงทนทาน
3. โครงสร้างแบบห้อยหรือแขวน เป็นโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับวัสดุบางชนิด เช่น การใช้ เหล็กสร้างสะพานบางแห่งในต่างประเทศ เป็นต้น โดยใช้เหล็กเป็นตัวเชื่อมโยงกับเสาของสะพาน ในการออกแบบโครงสร้าง ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง คุณสมบัติของวัสดุ ตลอดจนแรงต่างๆ ที่จะกระทำต่อโครงสร้างนั้นๆ เช่น แรงลม แรงสั่นสะเทือนเป็นต้น และผู้ออกแบบมักจะคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างนั้นๆ และการรับน้ำหนักของโครงสร้างนั้นๆ ด้วย
ประเภทของสถาปัตยกรรมถ้าเราพิจารณาสถาปัตยกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งในปัจจุบันและอดีต เราอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. ประเภทที่มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยไม่ได้ ได้แก่ เจดีย์ สถูป อนุสาวรีย์ สถาปัตยกรรมประเภทนี้ สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการด้านความเชื่อของมนุษย์ และเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นส่วนมาก
2. ประเภทที่มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยได้ ได้แก่ อาคาร บ้านเรือน อาคารสงเคราะห์ สถาปัตยกรรมเหล่านี้ นอกจากจะคำนึงถึงบริเวณว่างภายในที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์แล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่น การจัดสวน การจัดวางผัง การแบ่งบริเวณ รวมถึงการตัดถนนหนทางด้วย
สำหรับในประเทศไทยอาจมีสถาปัตยกรรมบางประเภทที่เคลื่อนไหวได้ เพราะลอยอยู่ในน้ำ เช่น แพ เป็นต้น
สถาปัตยกรรมประเภทนี้มีบริเวณว่างภายในที่เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ ซึ่งบางที เราอาจจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่าสถาปัตยกรรมใหม่ เพราะเหตุว่าการออกแบบรถที่มนุษย์สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้หรือการออกแบบสิ่งใหม่ๆ เช่น เครื่องบิน ยานอวกาศ สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมด้วยได้หรือไม่ อย่างไรดี คำว่าสถาปัตยกรรมในหน่วยการเรียนรู้นี้จะจำกัดเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนพื้นดินเท่านั้น สำหรับสิ่งก่อสร้างหรือการออกแบบที่เคลื่อนไหวได้ไม่อยู่ในขอบข่ายที่นำมาพิจารณา เพราะจะมีเนื้อหาลึกเกินขอบข่าย                                                                                         
การเขียนภาพสเกตซ์ (Sketches)
           เป็นลักษณะการเขียนภาพร่างหยาบๆ เพื่อกำหนดโครงสร้างขนาดสัดส่วนคร่าวๆ ของการเขียนภาพทุกชนิด เช่นการเขียนภาพสเกตช์หุ่นนิ่ง ภาพสเกตช์ทิวทัศน์ ภาพสเกตช์คนเหมือน ภาพสเกตช์งานออกแบบตกแต่ง เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการเขียนภาพสเกตช์งานพาณิชยศิลป์เท่านั้น
ประโยชน์และคุณค่าของการเขียนภาพสเกตช์
1. ทำให้เกิดความฉับไว้ คล่องตัวในการร่างภาพ
2. ทำให้เกิดความแม่นยำในเรื่องขนาด สัดส่วน
3. ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพทำได้ง่ายขึ้น
4. นำไปสู่การเขียนรายละเอียดที่ถูกต้อง คมชัด

วิธีการเขียนภาพสเกตช์
มีวิธีการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ร่างเส้นรอบนอก (Out line) ของวัตถุที่มีอยู่ทั้งหมดของในภาพ หรือในแบบ
2. ร่างเส้นรอบนอกของวัตถุที่เด่นที่สุดในภาพ
3. เขียนเส้นรอบนอกของวัตถุทุกชิ้นที่มีอยู่ในภาพหรือในแบบ ลบเส้นรอบนอกแล้วเน้นขนาด สัดส่วน รายละเอียดความคมชัด
การวาดเส้นรายละเอียด (Drawing Detail)  การวาดเส้นรายละเอียด เป็นการวาดเส้นที่เน้นความคมชัด แสดงรายเส้นที่เด็ดขาด ชัดเจน สวยงามให้อารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ อาศัยความประณีตบรรจง สุขุมเยือกเย็น และมีสมาธิสูง การวาดเส้นรายละเอียดมีขั้นตอนเหมือนกับการเขียนภาพสเกตซ์ หรือการเขียนภาพทั่วๆ ไป
การเขียนตัวอักษรและลวดลายในงานพาณิชยศิลป์
ความหมาย  ตัวอักษร คือ สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารในทางสายตา (Visual) ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้เข้าใจความหมายความต้องการของกันและกันได้
ประวัติความเป็นมา
           มนุษย์รู้จักเขียนและประดิษฐ์ตัวอักษรมานานนับพันปีในยุคแรกๆ จะมีลักษณะรูปแบบง่ายๆ ไม่ต้องมีความประณีตสวยงามและวิจิตรพิสดารแต่อย่างใด กาลเวลาผ่านไปตัวอักษรได้รับการพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของการศึกษา เศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม มีความหลากหลาย แปลกใหม่ ประณีต สวยงามและวิจิตรพิสดาร จากการเขียนและการออกแบบด้วยมันสมองของมนุษย์ ก็พัฒนามาเป็นใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนและออกแบบตัวอักษร ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาก
หลักการเขียนตัวอักษรในงานพาณิชยศิลป์
           ตัวอักษรจะมีคุณค่าทางความงาม มีรูปแบบที่หลากหลายสามารถนำไปใช้กับงานพาณิชยศิลป์ได้อย่างมีคุณค่า และได้รับประโยชน์สูงสุด มีหลักการดังนี้
           1. ขนาด (Size) หมายถึง ลักษณะของรูปที่กำหนด ขนาดตัวอักษรให้เหมาะกับเนื้อที่ เช่น ไม่เล็กเกินไป และไม่ใหญ่เกินไปจนคับที่
       2. สัดส่วน (Proportion) หมายถึง  ทรวดทรงของตัวอักษรที่เหมาะพอดีกับสัดส่วนในตัวอักษรของมันเอง ได้แก่ ส่วนสูงที่มีความสัมพันธ์กับส่วนกว้าง เช่น ตัวอักษรไม่อ้วนเตี้ย และไม่ผอมสูงเกินไป จนเป็นเหตุให้ขัดกับความรู้สึกแก่ผู้พบเห็น
           3. ระยะช่องไฟ (Space) หมายถึง ระยะห่างหรือระยะถี่ระหว่างตัวอักษรแต่ละตัว ตัวอักษรจะดูดี  มีความเป็นระเบียบและสวยงาม ควรวางระยะช่องไฟไม่ให้ถี่หรือห่างเกินไป มีระยะที่สม่ำเสมอ เหมาะสมกับงานพาณิชยศิลป์แต่ละชนิด
           รูปแบบของตัวอักษร
รูปแบบของตัวอักษร มีมากมายหลายรูปแบบ
     1. ตัวอักษรแบบอาลักษณ์ คือ ตัวอักษรแบบคัดลายมือ ตัวบรรจง มีความประณีตสวยงาม สัญลักษณ์ความเป็นไทยเหมาะที่จะนำไปใช้กับงานเขียนบัตรอวยพร บัตรเชิญ เกียรติบัตร และประกาศนียบัตร เป็นต้น
          2. ตัวอักษรแบบหัวกลม คือ ตัวอักษรที่มีรูปแบบพื้นฐานอ่านง่าย สื่อความเข้าใจได้รวดเร็ว นิยมนำไปใช้กับงานของทางราชการ งานโฆษณาทั่วไป
           3. ตัวอักษรแบบริบบิ้น คือ ตัวอักษรที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ เป็นผู้ทรงออกแบบเป็นรูปแบบอักษรหัวตัด 45 องศา สามารถเขียนได้ด้วยปากกาสปีดบอล พู่กันแบน นิยมนำไปใช้ในงานออกแบบทั่วๆ ไป เช่น ป้ายชื่อสถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้าน และงานโฆษณา

ลวดลาย (Pattern)
         ลวดลาย หมายถึง ลายเส้นและสีสันที่มีการประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าทางความงาม และนำไปใช้ประดับตกแต่งในงานศิลปะประเภทต่างๆ ทั้งในงานทัศนศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และงานศิลปะประยุกต์เช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบตกแต่ง ออกแบบนิเทศศิลป์ และออกแบบพาณิชยศิลป์ รูปแบบลวดลายในธรรมชาติของพืช สัตว์ แมลง ปรากฏการณ์จากธรรมชาติเหล่านี้ เป็นสิ่งบันดาลใจให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการที่หลากหลายไม่มีที่สิ้นสุดต่อไปนี่เป็นรูปแบบลวดลายในธรรมชาติที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเองได้ แต่มันก็เกิดขึ้นจากธรรมชาติจริงๆ
1. ลวดลายในพืช ได้แก่ ลวดลายในดอกไม้ ลวดลายในใบไม้ ลวดลายในเปลือกไม้
2. ลวดลายในแมลง ได้แก่ ลวดลายในปีก ส่วนหัว ดวงตา และลำตัวของแมลง เป็นต้น
3. ลวดลายในสัตว์ ได้แก่ ลวดลายในตัวสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน
4. ลวดลายที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตก ลวดลายของพื้นดินแตกระแหง เป็นต้น
5. ลวดลายจากรูปทรงเรขาคณิต ได้แก่ ลวดลายรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ครึ่งวงกลม เป็นต้น
6. ลวดลายในพาณิชยศิลป์ ปรากฏในงานโฆษณาหลายรูปแบบ มีทั้งที่ประกอบในตัวผลิตภัณฑ์สินค้า เครื่องหมาย การค้า ลวดลายประกอบตัวอักษร ลวดลายปรากฏในแผ่นภาพส่วนที่เป็นพื้นฉากไม่ว่าส่วนใดก็ตามจะต้องจัดวางตำแหน่งให้ถูกต้องตามหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์
การเขียนภาพระบายสีในงานพาณิชยศิลป์
1. การระบายด้วยสีน้ำสีน้ำเป็นสื่อวัสดุ นำไปใช้ในการระบายสีที่มีคุณสมบัติเด่นๆ 4 ประการ คือ
1.1 ลักษณะโปร่งใส เมื่อนำสีน้ำระบายบนกระดาษสีขาว สีจะสะอาดไม่หนาทึบ มีลักษณะโปร่งใส ไม่ควรระบายทับกันหลายครั้ง จะทำให้สีช้ำ หม่น ทึบแสง ควรระบายสีอ่อนก่อน แล้วจึงลงสีกลาง และสีเข้มตามลำดับ การทำให้สีน้ำเกิดความอ่อนแก่ต้องอาศัยน้ำเป็นตัวกลางผสมให้เกิดการเจือจาง ไม่ควรใช้สีขาวจะทำให้ทึบแสง
 1.2 ลักษณะเปียกชุ่ม คุณค่าทางความงามขิงภาพสีน้ำก็คือความเปียกชุ่ม ซึ่งเป็นเทคนิคการระบายเปียกบนเปียก
  1.3 คุณสมบัติแห้งเร็ว เมื่อเทียบกับสีน้ำมัน ดังนั้น ควรมีการตัดสินใจที่ค่อนข้างรวดเร็วและมั่นใจในการระบายสีน้ำ
   1.4 สีน้ำมีคุณภาพรุกรานและยอมรับ หมายถึง สีน้ำเมื่อถูกผสมน้ำและระบายบนพื้นกระดาษ สีน้ำจะไหลซึมไปผสมกับสีอื่นที่ระบายลงไปก่อนแล้ว แล้วที่ระบายลงไปก่อนก็ยอมให้ผสมกลมกลืนแต่โดยดี เป็นคุณสมบัติเด่นในคุณค่าของสีน้ำ
  กระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ   การสร้างสรรค์งานศิลปะ มีกระบวนการหรือขั้นตอนตามลำดับ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ หรือสัมผัสกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม นำมาสู่การสร้างประสบการณ์ หรือความชำนาญแล้วจึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิบัติงานศิลปะที่แปลกใหม่ต่อไป ซึ่งมีขั้นตอนในขั้นรายละเอียดดังนี้
1. การรับรู้ (Perception) การรับรู้ หมายถึง การที่มนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ รับรู้และชื่นชมในธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ได้แก่การสัมผัสรอบรู้ด้วยประสาทตาในการมองเห็นความงามของธรรมชาติ และการสัมผัสด้วยประสาทหู ในการยินเสียงจากธรรมชาติ หรือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาพและเสียงเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์สร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น เขียนภาพบันทึกความงามและความรู้สึกจากธรรมชาติ แต่งเพลงหรืบรรเลงเพลงดนตรี บรรยายความงามของธรรมชาติ หรือเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นต้น
2. ประสบการณ์ (Experience)   ประสบการณ์ หมายถึง การที่มนุษย์ผ่านภาวการณ์รับรู้ ได้เห็น ได้ฟัง และได้ปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้วบ่อยครั้งจนสะสมเป็นประสบการณ์และความชำนาญ เช่น ศิลปินที่มีใจรักและชื่นชมความงามของธรรมชาติมักจะเข้าไปสัมผัสชื่นชมกับความงามของธรรมชาติเหล่านั้น และนิยมถ่ายทอดความงามด้วยการเขียนภาพ จึงเกิดประสบการณ์และความชำนาญในการเขียนภาพธรรมชาติเป็นพิเศษนักเรียนที่เรียนวิชาศิลปะทุกคน สามารถที่สร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จากชีวิตประจำวันของตนได้อย่างมี
อิสระโดยไม่ต้องคำนึงถึงทักษะฝีมือมากนัก หากแต่การที่นักเรียนสามารถเขียนภาพบันทึกประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมาได้นั้น คือ ความงดงามที่มีคุณค่ายิ่งนั
3. จินตนาการ (Imagination) จินตนาการ หมายถึง การคิดสร้างภาพในจิตใจก่อนที่จะสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานศิลปะ โดยมีพื้นฐานมาจากการได้สัมผัสรับรู้ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม จนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ สะสมเป็นประสบการณ์และความชำนาญ ขยายผลเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการจิตนาการ มิใช่เป็นการถ่ายทอดจากประสบการณ์และจากสิงที่ตามองเห็นเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกจากภายในสู่ภายนอก สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อิสระและหลากหลาย
การสร้างสรรค์ภาพที่ไม่แสดงรูปแบบ ภาพที่ไม่แสดงรูปแบบ หมายถึง ภาพที่ไม่คำนึงถึงรูปลักษณะที่ปรากฏแก่สายตาว่าเป็นภาพอะไร แต่จะให้ความรู้สึกและอารมณ์ของผู้เขียนด้วยการใช้เส้น สี รูปร่าง รูปทรง ผสมผสานกันเป็นเรื่องราวหรือไม่เป็นรูปร่างก็ได้ เช่น การสร้างสรรค์ด้วยสี การหยด การแต้ม การเขียนภาพตามจังหวะดนตรี และการเขียนภาพตามจินตนาการ เป็นต้น
ภาพที่ไม่แสดงรูปแบบ สามรถสร้างสรรค์ได้ 2 ลักษณะ คือ
1. การสร้างสรรค์ด้วยสี
2. การลดทอนภาพไม่ให้เหมือนจร
1. การสร้างสรรค์ด้วยสี   การสร้างสรรค์ด้วยสี หมายถึง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้สีอย่างอิสระ ด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ เช่น วิธีการขูด เขียน ถูเป็นเส้นหรือริ้วรอย ผสมผสานกับสีที่หยดหรือแต้มลงไป ทั้งนี้ เน้นวิธีการสร้างสรรค์และการแสดงออกอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินโดยไม่คำนึงว่าจะได้ภาพที่เป็นรูปลักษณะใด
2. การลดทอนภาพไม่ให้เหมือนจริง    การลดทอนภาพไม่ให้เหมือนจริง หมายถึงการนำภาพเหมือนจริงมาลดทอน บางส่วนของภาพให้น้อยลง มีรูปร่างแตกต่างไปจากเดิม และมีความเป็นอิสระในการระบายสีเชิงสร้างสรรค์ได้มากขึ้นวิธีการลดทอนภาพไม่ให้เหมือนจริง มีดังนี้
   1) วิธีการลดทอนด้วยการเปลี่ยนสีใหม่ คือ เปลี่ยนสีในรูปร่าง รูปทรงเดิม ให้แตกต่างไปจากของจริงตามแนวเบื้องต้นทำให้ภาพเหมือนจริงแปรสภาพไปเป็นการใช้สีอย่างสร้างสรรค์ แสดงการลดทอนด้วยการเปลี่ยนสีใหม่
    2) การลดทอนภาพด้วยการใช้เส้นและสีเปลี่ยนรูปทรงเดิม หมายถึง การใช้เส้นและสีมาสร้างสรรค์ตามสัดส่วนของภาพเหมือนจริง เช่น ลากเส้นจากรูปทรงเดิมอย่างอิสระแล้วระบายสีหรือประจุดด้วยสีให้มีน้ำหนักแตกต่างไปจากภาพเดิม จะเป็นการลดทอนภาพได้อีกวิธีหนึ่ง
     3) การลดทอนภาพด้วยการลดรูปทรงและรายละเอียด หมายถึง การลดทอนรูปภาพจากของจริง โดยตัดทอนรายละเอียดให้เหลือส่วนที่สำคัญไว้เท่านั้น วิธีง่ายๆ อาจใช้เส้นร่างวาดทับรูป
การสร้างสรรค์ภาพที่แสดงรูปแบบ
ภาพที่แสดงรูปแบบ หมายถึง ภาพที่ปรากฏแก่สายตาเหมือนจริงตามที่เรามองเห็นภาพวัตถุนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของรูปร่าง รูปทรงเป็นอย่างไร ผู้เขียนภาพ สามารถถ่ายทอดออกมาได้เหมือนแบบ โดยแสดงรูปร่างรูปทรงที่แน่นอนเหมือนจริง และจะต้องคำนึงถึงความงามด้วย
ลักษณะภาพแสดงรูปแบบ มีดังนี้
           1. การเขียนภาพคน
           2. การเขียนภาพสิ่งแวดล้อม
           3. การเขียนภาพการดำเนินชีวิตในสังคมและภาพจินตนาการ

1. การเขียนภาพคน  โครงสร้างของคนประกอบด้วยส่วนต่างๆ เช่น ศีรษะ ลำตัว แขน และขา เป็นต้น แต่ละส่วนยังแยกย่อยออกไปได้อีกซึ่งจัดเป็นส่วนประกอบของภาพคน คือ คน หู ตา จมูก ปาก มือ เท้า คอ สะโพก เป็นต้น เมื่อนำเอาส่วนประกอบซึ่งเรียกอีกอย่างว่าอวัยวะต่างๆ มาประกอบกันเข้าจะเกิดเป็นรูปร่างรูปทรงขึ้น การเขียนภาพโครงสร้างของคนจะต้องคำนึงถึง สัดส่วน การทรงตัวลีลา ท่าทาง การเคลื่อนไหว ซึงเป็นลักษณะสำคัญที่จะทำให้ภาพสมบูรณ์เหมือนจริง ขั้นตอนการเขียนภาพจะต้องคำนึงวิธีการดังนี้
     1.1 การเขียนส่วนต่างๆ ของภาพคน คือ การเขียนภาพอวัยวะของร่างกายแต่ละส่วน ก่อนที่จะเขียนภาพคนทั้งส่วน เช่นส่วนของหน้ามีหู ตา จมูก ปาก ส่วนของลำตัวมีหน้าอก สะโพก ส่วนของขามีเท้า ส่วนของแขนมีมือ เป็นต้น
  1.2 การเขียนภาพคน คือ การร่างภาพของคนให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน แล้วจึงเติมอวัยวะต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดให้สมบูรณ์ โดยไม่ต้องเขียนเป็นขั้นตอน อาจใช้วิธีการง่ายๆ เป็นการร่างโครงสร้างคนแบบหัวก้านไม้ขีด เพียงแต่ให้ทรงตัวได้ก่อน แล้วค่อยเพิ่มเติมรายละเอียดทีหลัง การเขียนภาพคนเป็นสิ่งยาก
เนื่องจากคนมีกี่เคลื่อนไหว ลีลา ท่าทางต่างๆ เช่น เดิน วิ่ง ยืน นั่ง นอน เป็นต้น
           การเขียนภาพคนมี 2 ลักษณะ คือ
   1. การเขียนภาพคนครึ่งตัว คือ การเขียนภาพคนเหมือน (Portrait) เน้นความเหมือนจริงที่ใบหน้า
   2. การเขียนภาพคนเต็มตัว คือ การเขียนภาพคนทั้งตัว (Figure) เน้นลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวด้วยลีลาที่งดงามโครงสร้างของภาพคนมีความสำคัญไม่น้อย เพราะช่วยในเรื่องของการทรงตัวขณะเคลื่อนไหว หรือขณะยืนอยู่กับที่ให้มีลักษณะท่าทางที่ถูกต้องการเคลื่อนไหวของภาพคน จะเกิดขึ้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของขาและแขน ซึ่งเป็นส่วนของข้อต่อ และกล้ามเนื้อทำหน้าที่เหยียด งอ หุบได้ ถ้าคนยืนตรงน้ำหนักของร่างกายทั้งหมดจะลงอยู่ที่ขาอย่างเดียวเท่านั้น ในท่าเดินและท่าวิ่ง การโยกย้ายน้ำหนักของร่างกาย ให้สังเกตที่แขนและขาจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน เช่น แขนขวาแกว่งไปด้านหน้า ขาขวาและเท้าจะอยู่ด้านหลัง ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้